กฎหมายระหว่างประเทศกรณีเขาพระวิหาร





สมัยก่อนพี่นุ้ยมีเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศกรณีเขาพระวิหาร และเคยเขียนเรื่องการครอบครองปรปักษ์ในมุมของกฎหมายระหว่างประเทศไว้ด้วย (ลองดูวันที่ในรูปแล้วจะรู้ว่า สมัยก่อนจริงๆ) ไว้จะค่อยๆเอามาแชร์กันในโอกาสต่อไปนะคะ
 
เขาพระวิหารผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ: นัยยะของการครอบครองปรปักษ์ต่อพื้นที่ทับซ้อนจุดต่างๆ

นอกจากประเด็นแถลงการณ์ร่วมและการระงับข้อพิพาท คำถามที่ได้รับความสนใจอีกประการหนึ่งในกรณีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร คือ การครอบครองปรปักษ์ ตามข้อกังขาที่ว่าการที่ฝ่ายกัมพูชาได้ก่อสร้างชุมชนตลาดหน้าบันได วัด ร้านค้า โรงแรม สถานบันเทิง คาราโอเกะ จะส่งผลต่อการสูญเสียดินแดนของฝ่ายไทยหรือไม่

ประเด็นการครอบครองปรปักษ์มิได้มีนัยยะสำคัญต่อพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหารเพียงเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อความเข้าใจสภาพความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในบริเวณอื่นๆ ทั้งนี้ ความเข้าใจของบุคคลทั่วไปต่อการครองครองปรปักษ์มักอ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” แม้การครอบครองปรปักษ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่บางประการ แต่ทว่าข้อกฎหมายดังกล่าวจะนำมาเปรียบเทียบกับการครองครองปรปักษ์ในกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ด้วยเหตุในเบื้องต้นคือ กฎหมายภายในประเทศมีผลบังคับต่อประชาชนหรือบุคคลธรรมดา ขณะที่บุคคลภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ คือ รัฐ (state) หรือประเทศต่างๆนั่นเอง

การครอบครองปรปักษ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ในหนังสือ Acquisitive Prescription in International Law โดย Johnson (1950) การครอบครองปรปักษ์ (acquisitive prescription) หมายถึง การยอมรับอธิปไตยของรัฐหนึ่งรัฐใดเหนือพื้นที่ทางบกหรือทางทะเลซึ่งรัฐได้ใช้อำนาจปกครองเหนือพื้นที่นั้นมาอย่างต่อเนื่อง และสงบเรียบร้อยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วการครอบครองปรปักษ์มักใช้ในกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่หรือสงสัยว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศอื่นมาก่อนบนพื้นฐานของหลักฐานทางเอกสาร หรือสนธิสัญญา
 
จากกรณีคดีข้อพิพาทเหนือดินแดน Kasikili/Sedudu Island ระหว่างประเทศบอสวานาและนามิเบีย ศาลโลกระบุว่าเงื่อนไขอันจะนำไปสู่การครอบครองปรปักษ์ประกอบด้วย

(1) การครอบครองซึ่งสัมพันธ์กับการยืนยันอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (Possession must be exercised a titre de souverain)

กฎหมายระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการกระทำและเจตนาของรัฐที่สัมพันธ์กับการแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ในคดีข้อพิพาทเหนือ Eastern Greenland ระหว่างประเทศเดนมาร์กและนอรเวย์ กิจกรรมการปกครองของรัฐนำไปสู่อธิปไตยของเดนมาร์กเหนือพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม

อนุญาโตตุลาการได้ระบุในกรณีข้อพิพาท the Island of Palmas Case ว่ากิจกรรมการปกครองของรัฐอาจแตกต่างไปตามสภาพพื้นที่ กล่าวคือ การเก็บภาษี การตั้งโรงเรียน หรือสถานที่ราชการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพื้นที่ที่มีผู้อาศัยอยู่มาก แต่ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ห่างไกลหรือมีผู้อาศัยอยู่น้อย การกระทำของเอกชน ซึ่งมิใช่ผู้แทนแห่งรัฐ ทั้งการทำเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ และการสำรวจพื้นที่ท้องน้ำโดยชาวบ้านหรือบุคคลทั่วไปแทบจะไม่มีน้ำหนักในการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนทางบก

(2) การครอบครองนั้นเป็นไปอย่างสงบและปราศจากการคัดค้าน (The possession must be peaceful and uninterrupted)

กิจกรรมการปกครองของรัฐเหนือพื้นที่ โดยปราศจากการประท้วงหรือคัดค้านจากอีกรัฐหนึ่ง ย่อมหมายความว่ารัฐที่ไม่คัดค้านสละสิทธิ์ที่จะอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้น อีกทั้งยอมรับพฤติการณ์ที่ปรากฏอยู่ ดังเช่น ในคำตัดสินสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในกรณีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ Barnwell ระหว่างรัฐ Georgia และ South Carolina อธิปไตยเหนือเกาะ Barnwell ตกเป็นของรัฐ South Carolina ซึ่งเข้าไปจัดการปกครองและประกอบกิจกรรมของรัฐเหนือพื้นที่ดังกล่าวโดยปราศจากการประท้วงจากฝ่าย Georgia การเพิกเฉยของ Georgia นำไปสู่การสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาท ถึงแม้ว่า Georgia จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยแท้จริงตามสนธิสัญญา Beaufort
(3) การครอบครองนั้นเป็นไปอย่างเปิดเผย (The possession must be public) และ (4) มีระยะเวลายาวนานเพียงพอ (The possession must endure for a certain length of time)

การครอบครองนั้นจะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้รัฐอื่นคัดค้านและปฏิเสธ
การครอบครองปรปักษ์ อย่างไรก็ตามศาลมิได้กำหนดว่าการครอบครองนั้นจะต้องมีระยะเวลานานเท่าใด เพียงแต่ว่าการครอบครองจะต้องเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอ เช่น 30 ปีในกรณี The Grisbadarna Case ระหว่างนอร์เวย์และสวีเดน หรือ 100 ปีในกรณี The Ran of Kutch ระหว่างอินเดียและปากีสถาน
นัยยะของการครอบครองปรปักษ์ต่อพื้นที่ทับซ้อนจุดต่างๆ

แม้กิจกรรมของชาวบ้าน บุคคลทั่วไป และเอกชนจะไม่มีผลต่อการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในทางตรง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการสนับสนุน อีกทั้งนำไปสู่กิจกรรมและอำนาจรัฐ เช่น การเก็บภาษี การตั้งสถานที่ หน่วยงานราชการ และแม้แต่การเข้าใช้พื้นที่ตามความเข้าใจว่าบริเวณนั้นอยู่ภายใต้อธิปไตยของตน

นอกจากนี้ การอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนโดยรัฐหนึ่งรัฐใดไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องผิด หากแต่รัฐที่กล่าวอ้างสมควรต้องพิจารณาถึงอำนาจและการควบคุมที่ตนมีอยู่เหนือพื้นที่ตามความเป็นจริงด้วย และหากมีการระงับข้อพิพาทโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย ศาลจะคำนึงถึงน้ำหนักของข้อกล่าวอ้างจากแต่ละฝ่าย(relative title) ในกรณี the Grisbadarna Case ศาลอธิบายไว้ชัดเจนว่า การสร้างประภาคาร และวัดระดับน้ำทะเลซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยฝ่ายสวีเดนย่อมเป็นเครื่องยืนยันการกระทำและเจตนาที่จะแสดงอธิปไตยเหนือบริเวณ Grisbadarna ในทางตรงกันข้าม การที่ฝรั่งเศสอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนโดยปราศจากการเข้าไปปกครองหรือประกอบกิจกรรมใดๆโดยรัฐ ย่อมไม่อาจเป็นบ่อเกิดของอธิปไตยได้ในข้อพิพาทเหนือ Minquiers and Ecrehos ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ
 
กรณีต่างๆที่กล่าวมาสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับการอ้างอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทตาเมือนธมและพื้นที่ทับซ้อนอื่นๆได้ หากประเทศไทยได้ใช้อำนาจในการปกครองและบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวมาตลอดแล้ว การกล่าวอ้างของกัมพูชาจะถือเป็นเพียงลัทธิสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืน หรือ irredentism ซึ่งไม่มีผลในทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นชาตินิยมและยุทธศาสตร์เชิงรุกของกัมพูชาต่อผลประโยชน์ของชาติและผู้นำที่เราจะต้องศึกษา รู้เท่าทัน เพื่อนำมาสร้างดุลอำนาจความเสมอภาคระหว่างกันต่อไป

สมิตา หมวดทอง
MA. International Boundaries, University of Durham, UK
MA. Speech Communication, Portland State University, US
E-mail: nuienglish@hotmail.com

https://www.facebook.com/nuienglish/posts/pfbid0dMC9ETzRrzMYzyxNhNbuCrSuBG1qtGgC7a7LTFG96Z5HoYrLn4NYQnmiQXqPRtAol

😉 😌 😍 🥰 😘 😗 😙 😚 😋 😛 😝 😜 🤪

ดร.พี่นุ้ย สมิตา หมวดทอง
อยากเลี้ยงกาแฟพี่นุ้ย https://www.nuienglish.com/coffee
โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Nui-English
-อันดับ 2 ของประเทศในการสอบพรี ม.ต้น ขณะเรียนที่สาธิตปทุมวัน 
-สอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะเรียนเตรียมอุดมแผนวิทย์-คอม ม.4 GPA 3.94 
-อักษร จุฬา เอกอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับ 1 สามปีครึ่ง 
-ปริญญาโท Speech Communication ทุน ก.พ.
-ปริญญาโท International Boundaries ทุนเชลล์ร่วมกับรัฐบาลอังกฤษ 
-ปริญญาเอก Development Management ทุนงบประมาณแผ่นดิน
โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนุ้ยอิงลิช
โทร 089-8834523, 084-1639722

ความคิดเห็น