Step into the other’s shoes

Step into the other’s shoes

แฉเรื่องฮาภาษาอังกฤษ: Step into the other’s shoes

ครั้งหนึ่งตอนไปเรียนปริญญาโทสาขา Speech Communication พี่นุ้ยได้มีโอกาสเข้าเรียนในวิชา Conflict Resolution (การระงับความขัดแย้ง) ซึ่งสอนเกี่ยวกับวิธีการสร้างสันติภาพ การยุติปัญหาตั้งแต่ระดับเล็กๆไปจนถึงระหว่างประเทศ เห็นชื่อหลักสูตรแล้วก็น่าจะพอเดากันออกนะคะว่าไม่ค่อยมีคนไทยหรือคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาเรียนกันสักเท่าไร เพราะนอกจากจะต้องใช้ทักษะทางภาษาแล้ว คนที่จะเรียนมักจะเป็นนักเรียนทุนหรือว่าเป็นผู้ที่ทำงานกับราชการและองค์กรระหว่างประเทศ พี่นุ้ยอยู่ในข่ายประเภทที่ 1 คือเป็นนักเรียนทุน ก.พ. จึงได้ศึกษาอะไรแปลกๆที่ไม่เหมือนคนอื่นค่ะ เรื่องฮาในวันนี้มาจากประสบการณ์ของอาจารย์ประจำวิชา Conflict Resolution ที่นำเรื่องหน้าแตกของรุ่นพี่ซึ่งจบไปแล้วมาเล่าสู่กันฟัง


การเรียนแบบฝรั่งอย่างที่ทราบๆกันว่าจะเน้นการปฏิบัติ วิธีการสอนคือให้ไปอ่านหนังสือมาก่อน พอมาถึงในห้องเขาจะแจกใบงาน และงานในวันนั้นก็คือให้จับคู่กัน สมมติว่ามีเรื่องขัดแย้งแล้วไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามสถานการณ์ที่กำหนด ใบงานกำหนดขั้นตอนของการระงับข้อพิพาท (how to resolve the conflict) ไว้ 3 ประการคือ Step1: Analyze the conflict. Step2: Step into the other’s shoes. Step3: Walk towards the other party


รุ่นพี่ชายชาวเอเชียหลังจากเห็นใบงานแล้วก็เริ่มต้นด้วยการคุยวิเคราะห์ความขัดแย้ง (Analyze the conflict.) ตามขั้นตอนที่ 1  หลังจากนั้นเขาก็ถอดรองเท้า และมองไปที่เพื่อนของเขาแบบหัวจรดเท้า

เพื่อน: Why are you looking at me like that? What’s happening? 
(ทำไมมองอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้น)

รุ่นพี่ชายชาวเอเชีย: “Why don’t you take off your shoes?” 
(ทำนายไม่ถอดรองเท้า)

เพื่อน: …Take off my shoes? (ถอดรองเท้าเนี่ยนะ)

รุ่นพี่ชายชาวเอเชีย: Yes. Take off your shoes so that we can go on and I can step into your shoes.
(ใช่ ถอดรองเท้าสิ เราจะได้ทำงานกันต่อตามขั้นตอนที่ 2)

โชคดีนะที่อาจารย์ท่านเดินมาสังเกตการณ์พอดี ถามไถ่ได้เรื่องจึงอธิบายไปว่า Step into the other’s shoes นั้นเป็นสำนวน แปลว่า ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเขาบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร
 เมื่อเข้าใจกันแล้ว ฝ่ายเพื่อนจึงแซวกลับไปว่า

เพื่อน: This time, do you want me to take off my socks also?

สำหรับรุ่นพี่ชายชาวเอเชียแล้ว คงไม่มีอะไรดีไปกว่า dry laugh 
(เสียงหัวเราะแห้งๆ) กลบเกลื่อนความเข้าใจผิด

ป.ล. ขั้นตอนสุดท้าย Walk towards the other party. แปลว่าให้สื่อสารหรือหามาตรการในทางปฏิบัติที่จะเชื่อความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย (party) ไม่ต้องเดินเข้าไปหากันจริงๆ ใครจะนำ 3 ขั้นตอนนี้ไปใช้เวลาทะเลาะกับเพื่อนบ้างก็ยินดีนะคะ

แบ่งปันประสบการณ์ความฮากับพี่นุ้ยได้ที่ www.facebook.com/nuienglish 

พี่นุ้ย English Breakfast

ความคิดเห็น