Knowledge

Knowledge จากนิตยาสาร Just Ask @ Thaioil

“No man is an island, entire of itself; every man is apiece of the continent, a part of the main”
        John Donne

เพราะคนไม่ใช่เกาะ เราจึงต้องเกาะกลุ่ม องค์กรก็ถือเป็นความพยายามในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่ด้วยความที่สังคมทุกวันนี้เปิดมากขึ้นในแง่ความคิดและพื้นที่ ความเป็นอยู่ขององค์กรจึงแทบจะพลิกโฉมหน้าไป จากเดิมซึ่งต้องมีรั้วรอบขอบชิด มีพรมแดนที่แน่นอนกลายเป็นการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เกิดองค์กรเสมือน (virtual organization หรือ virtual office) ที่สมาชิกติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบเทคโนโลยีโดยอาจไม่เคยแม้แต่จะเห็นหน้ากันเลยด้วยซ้ำ แต่ในความคิดของพี่นุ้ย สิ่งที่ยังคงอยู่ไม่เคยเปลี่ยนและสำคัญขึ้นเรื่อยๆสำหรับองค์กรก็คือ ความรู้ (knowledge)

ยุคนี้ไปไหนใครๆก็พูดถึง km ซึ่งมาจาก knowledge management (การจัดการความรู้) แต่ถ้าเป็นก่อนหน้านี้สัก 10 ปี ก็จะพูดถึง information management (การจัดการข้อมูลจนหลายคนเกิดความสงสัยว่า information และ knowledge ในภาษาอังกฤษนั้นต่างกันตรงไหน เรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ data ซึ่งเป็นข้อมูลดิบค่ะ เมื่อนำข้อมูลดิบมาจัดแยกให้เป็นหมวดหมู่ก็จะกลายเป็น information หลังจากนั้นถ้าอยากจะสร้างมูลค่าต่อก็นำสารสนเทศมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน จนได้ knowledge พอมาต่อยอดเป็น knowledge management จึงกลายเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย 4 มิติ คือ knowledge creation (การสร้างความรู้) knowledge codification (การประมวลความรู้ เช่น จัดทำรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้ codification มีรากศัพท์มาจาก code ซึ่งหมายถึง รหัส) knowledge distribution (การกระจายความรู้ให้แก่คนทั้งในและนอกองค์กร distribution หมายถึง การแจกจ่าย) และ knowledge utilization (การใช้ความรู้ โดยประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ utilization มาจากกริยา utilize ซึ่งแปลว่า ใช้ เหมือน use) ทั้งหมดนี้สร้างคำขึ้นมาโดยการนำคำนามไปขยายคำนาม โดย knowledge เป็นตัวขยายนะคะ

เห็นเป็นภาษาอังกฤษ แต่เชื่อหรือไม่ว่าผู้มีชื่อเสียงที่พูดถึง knowledge management กลับเป็นชาวเอเชียอย่างญี่ปุ่นชื่อว่าทาเคอูชิและโนนากะ สองท่านนี้แบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภท คือ tacit knowledge ซึ่ง tacit นี้มีความหมายคล้ายกับ silent (เงียบ) แต่ไม่ได้แปลว่าความรู้เงียบๆตรงตัวแบบนั้นนะคะ tacit knowledge คือ ความรู้ที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆอยู่ในตัวบุคคล จะเรียกว่า implicit knowledge (im- เป็นรากศัพท์ที่แปลว่า ไม่ หรือ ใน ซึ่งในที่นี้พี่นุ้ยเลือกความหมายว่า ใน เพราะเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในแต่ละคน) embedded knowledge (คำนี้ยิ่งชัดเพราะมากมาจาก em- หมายถึง ทำให้มี ทำให้อยู่ข้างใน + bed ซึ่งไม่ใช่เตียงนอน แต่แปลว่า ก้นบึ้ง embedded เป็น adjective ที่มาขยายหน้านาม แปลว่า ที่ถูกฝัง ฝังในที่นี้คือฝังลงตัวของแต่ละคนนะคะ ไม่ใช่ฝังลงดิน) หรือท้ายที่สุดจะเรียกว่า sticky knowledge ฟังแล้วให้นึกถึง sticky rice ข้าวเหนียวมะม่วง sticky แปลว่า เหนียว ที่ต้องเรียกแบบนี้ก็เพราะเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดออกจากตัวได้ยาก ไม่มีตัวหนังสือปรากฏให้เห็นชัดเจน ลองนึกถึงหนังจีนดูนะคะกว่าอาจารย์จะถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษย์ได้ ลูกศิษย์ต้องหอบน้ำผ่าฟืนไม่รู้กี่ครั้งอาจารย์ถึงจะยอมใจอ่อน ส่วนความรู้อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า explicit knowledge คำว่า ex- นี่แปลว่า ออก ค่ะ คือออกมาให้เห็นชัดเจน เป็นความรู้ที่มีเขียนไว้แล้ว ชัดเจน 

การจัดการความรู้ในองค์กรให้ความสำคัญกับความรู้ทั้งสองอย่างและเน้นให้มีการเปลี่ยนรูป (transform) ด้วยนะคะ อย่างใครมีความรู้แบบ tacit knowledge ก็อาจนำมาถ่ายทอดลงเป็นคู่มือกลายเป็น explicit knowledge การจะพาองค์กรไปสู่ความเป็น HPO หรือ high-performance organization นั้นต้องอาศัยความรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ภาษาอังกฤษค่ะ วันนึ้จึงถือเป็น Just Ask ตอนพิเศษที่นำความรู้ด้านภาษาอังกฤษและบริหารมาอยู่รวมกันเป็นเรื่องเดียว ถ้าพี่ๆเพื่อนๆชาวไทยออยล์อยากจะ km (หรือคุยเล่นๆ) กับพี่นุ้ยก็ add มาได้เลยคะที่ www.facebook.com/nuienglish ค่ะ อย่าลืมนะคะว่า 
knowledge is power. ความรู้คือพลังสร้างสรรค์องค์กร


นุ้ย English Breakfast

ความคิดเห็น